กรุณาระบุคำค้นหาที่ท่านต้องการ

กินหัวคิวยังไม่พอ ยังขอกินต่อเป็นรายเดือน
บทความใสสะอาด
26 ตุลาคม 2565
ผู้เข้าชม 158 คน
Post Content Image

        ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี ๒๕๔๓ วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยมีจริยธรรม มีคุณธรรม รังเกียจการทุจริต ถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ รวมทั้งประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่มีความใสสะอาดและสร้างแนวร่วมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในสังคมไทย

        มูลนิธิฯ ได้พยายามปลูกฝังและสร้างแนวร่วมเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะนักเรียน เพื่อเขาเหล่านั้น “โตไปจะไม่โกง” ครับ ก็ได้แต่คาดหวังว่าเมื่อนักเรียนเหล่านี้โตเป็นผู้ใหญ่ก็จะไม่โกง ประเทศไทยของเราก็น่าจะใสสะอาดมากยิ่งขึ้น ไม่ได้ทำเฉพาะนักเรียนหรอกครับ แม้แต่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ใหญ่ มูลนิธิฯ ก็ได้พยายามปลูกฝังจิตสำนึกเพื่อเขาเหล่านั้นไม่โกงกินหรือทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ว่าการทุจริตและประพฤติมิชอบจะไม่มีทางหมด ไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม มีมากมีมีน้อยมากก็เท่านั้นครับ ไม่ได้หวังให้คนโกงหมดแผ่นดินหรอกครับ

        สำหรับในประเทศไทยเองนั้น หลายหน่วยงานครับที่ “หัวไม่ส่าย หางก็ไม่กล้ากระดิก” แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนและที่บางหน่วยงานก็ยังกล้าที่จะทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งทุกคนยอมรับว่าท่านเป็นบุคคลที่ใสสะอาดมากคนหนึ่ง รวมทั้งมีนโยบายปราบปรามการคอร์รัปชั่น แต่ก็ยังมีข้าราชการบางคนที่ทำตัวเป็น “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” สมัยก่อนมีคนกล่าวกันว่า เหตุที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะเขาเหล่านั้นได้รับค่าตอบแทนจากรัฐน้อย จนไม่เพียงพอกับการครองชีพ แต่คงไม่ใช่สมัยนี้แล้วละกระมังครับ เพราะเมื่อผู้เขียนเหลือบไปดูเงินเดือนของข้าราชการในปัจจุบันแล้วก็ต้องตกใจครับ คิดว่าทำไมตัวเองถึงเกิดมาเร็วนัก หากเกิดช้ากว่านี้สักหน่อยก็ยังคงรับราชการอยู่ ยังไม่เกษียณอายุราชการ อาจได้เงินเดือนเหมือนรุ่นน้องๆ เขาบ้าง

        คำกล่าวข้างต้นเป็นเพียงคิดเล่นหรอกครับ เพราะดีแล้วที่เกษียณอายุ พ้นพงหนามมาแล้วได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุอย่างมีความสุขไปกับการท่องเที่ยวและการเขียนบทความ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กว่า ครับ ลองดูเงินเดือนข้าราชการในปัจจุบันกัน เป็นอัตราเงินเดือนขั้นต่ำและขั้นสูงนะครับ

ประเภทบริหาร

นักบริหารสูง ๕๖,๓๙๐ – ๗๖,๘๐๐ บาท
นักบริหารต้น ๕๑,๑๔๐ – ๗๔,๓๒๐ บาท

ประเภทอำนวยการ
อำนวยการสูง ๓๒,๘๕๐ – ๗๐,๓๖๐ บาท
อำนวยการต้น ๒๖,๖๖๐ – ๕๙,๕๐๐ บาท

ประเภทวิชาการ
ปฏิบัติการ ๘,๓๔๐ – ๒๖,๙๐๐ บาท
ชำนาญการ ๑๕,๐๕๐ – ๔๓,๖๐๐ บาท
ชำนาญการพิเศษ ๒๒,๑๔๐ – ๕๘,๓๙๐ บาท
เชี่ยวชาญ ๓๑,๔๐๐ – ๖๙,๗๔๐ บาท
ทรงคุณวุฒิ ๔๓,๘๑๐ – ๗๖,๘๐๐ บาท

ประเภททั่วไป

ปฏิบัติงาน ๔,๘๗๐ – ๒๑,๒๑๐ บาท
ชำนาญงาน ๑๐,๑๙๐ – ๓๘,๗๕๐ บาท
อาวุโส ๑๕,๔๑๐ – ๕๔,๘๒๐ บาท
ทักษะพิเศษ ๔๘,๒๒๐ – ๖๙,๐๔๐ บาท


        ยังอีกครับ ข้าราชการระดับชำนาญการถึงระดับนักบริหารสูง ยังมีเงินประจำตำแหน่งกันอีก ตั้งแต่ ๓,๕๐๐ บาท ถึง ๒๑,๐๐๐ บาท แล้วเงินจำนวนนี้ยังได้รับเป็น ๒ เท่า ที่กำหนดไว้อีกด้วย สำหรับท่านที่สนใจว่าตำแหน่งไหนได้รับเงินประจำตำแหน่งเท่าไรนั้น ก็ลองเปิดดูใน กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๑ ก็แล้วกันนะครับ แม้ว่าข่าวคราวการทุจริตคอร์รัปชั่นในระยะนี้น้อยลง จะเป็นด้วยข้าราชการมีจิตสำนึกมากขึ้นหรือมีวิธีการคอร์รัปชั่นที่แนบเนียนขึ้นจนอาจยังจับไม่ได้ ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ก็ยังมีข้าราชการบางคนยังคอร์รัปชั่นกันอยู่ การทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นมากที่สุดก็คือในหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการอนุมัติอนุญาตนั่นแหละครับ ที่เขียนไม่ได้เหมารวมถึงข้าราชการในหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุมัติอนุญาตทั้งหมดหรอกครับ เพราะผู้เขียนยังเชื่อว่าข้าราชการส่วนใหญ่เป็นคนดี มีเพียงบางคนเท่านั้นที่นอกจากกินเงินเดือนหลวงแล้วยังสร้างความเดือนร้อนให้แก่ผู้ประกอบการอีกด้วย ที่ผู้เขียนอึดอัดและต้องเขียนบทความเรื่องนี้ ก็เป็นเพราะพฤติกรรมของข้าราชการที่ผู้เขียนทราบมานั้นเหลือรับประทานจริงๆ เรียกเงินตอนที่ผู้ประกอบการยื่นขออนุมัติอนุญาตยังไม่พอ ยังเรียกเงินเป็นรายเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์จากรายรับของการประกอบการนั้นๆ อีก เข้าใจว่าคงขอมาแบบนี้หลายรายแล้ว ไม่งั้นคงไม่กล้าขอรายนี้ เหตุที่ผู้ประกอบการต้องยอมเพราะข้าราชการผู้หน้าที่เสนอให้อนุมัติหรืออนุญาตนั้นโยกโย้ ดองเรื่องหรือทำทุกอย่างที่ทำเรื่องให้ช้า ผู้ประกอบการรอไม่ได้เพราะธุรกิจต้องเดินหน้า แม้ว่ามาตรา ๒๙ แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ บัญญัติให้ส่วนราชการจัดทำแผนภูมิขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินการให้แล้วเสร็จ และให้ติดประกาศไว้ในที่เปิดเผย และในมาตราต่อไปได้กำหนดว่าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน แต่อาจมีข้อยกเว้นได้ในบางกรณี แต่ข้าราชการที่กล้าคอร์รัปชั่นก็ไม่กลัว เพราะรู้ทั้งรู้ว่าผู้ประกอบการไม่กล้าร้องต่อหัวหน้าส่วนราชการ เพราะเป็นการทุบหม้อข้าวของตัวเอง แต่หัวหน้าส่วนราชการช่วยได้ครับ หากตั้งใจที่จะทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่นั้นใสสะอาดขึ้น ก็ต้องช่วยปัดกวาดส่วนราชการของตนเอง

        สมัยเทคโนโลยีเฟื่องฟูนี้ไม่ยากเลยครับ เพราะปัจจุบันหลายส่วนราชการใช้ระบบสารบัญอิเลคทรอนิคกันอยู่แล้ว สำหรับเรื่องขออนุมัติอนุญาตก็ให้เรียกดูได้ว่าเรื่องเข้ามาเมื่อไร ออกเมื่อไร หากเกินเวลาตามที่สัญญาประชาคมไว้ ก็เรียกเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ สอบถามหาสาเหตุซิครับ หรือตรวจสอบว่าเรื่องทำนองเดียวกัน เหตุใดดำเนินการให้ผู้ประกอบการรายอื่นรวดเร็วภายในเวลาที่กำหนด แต่อีกผู้ประกอบการหนึ่งล่าช้าเหลือเกิน เหตุที่ช้าเพราะเขาไม่ยอมจ่ายไงละครับ เรียกมาสอบถามบ่อยๆ เข้า นอกจากจะได้ทราบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการบางประการ เพื่อนำไปแก้ไขขั้นตอนการทำงานให้รัดกุมยิ่งขึ้นแล้ว ยังแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นได้อีกด้วย โดยที่มาตรา ๓๗ วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าส่วนราชการในการตรวจสอบให้ข้าราชการปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้

        ดังนั้น หากขืนปล่อยปละละเลย และผู้ร้องขอรายใดเป็นประเภท “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” ยกเรื่องขึ้นมาฟ้องร้องตามมาตรา ๑๑๗ หรือฟ้องร้องศาลปกครอง หัวหน้าส่วนราชการก็เป็นจำเลยที่ ๑ นะครับ จะบอกให้


พุธทรัพย์ มณีศรี
ป.ล. ขอขอบคุณกูเกิ้ล สำหรับภาพประกอบทั้งหมด

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
บทความใสสะอาด ที่เกี่ยวข้อง
Hover Icon
บทความใสสะอาด
ตามไปดูลูกสาวของแผ่นดินที่สงขลา
14 กุมภาพันธ์ 2566
172
Hover Icon
บทความใสสะอาด
คืนคุณภาพสู่ห้องเรียน
06 กุมภาพันธ์ 2566
552
Hover Icon
บทความใสสะอาด
จริยธรรมข้าราชการพลเรือน
06 กุมภาพันธ์ 2566
533
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว

การตั้งค่าคุกกี้