กรุณาระบุคำค้นหาที่ท่านต้องการ

ภาครัฐและเอกชนร่วมต้านทุจริต : การเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทเพื่อรวมพลังแผ่นดิน
บทความใสสะอาด
26 ตุลาคม 2565
ผู้เข้าชม 156 คน
Post Content Image

​ ๑. โครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทเพื่อรวมพลังแผ่นดินด้วยใจไทยใสสะอาด
“...ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียว ก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าขอให้ มีอันเป็นไป แต่ถ้าไม่ทุจริต สุจริตและมีความตั้งใจมุ่งมั่นสร้างความเจริญ ก็ขอให้ต่ออายุ ได้ถึง ๑๐๐ ปี ส่วนคนไหนที่มีอายุมากแล้ว ขอให้แข็งแรง ความสุจริตจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นอันตราย...”
“...ภายใน ๑๐ ปี เมืองไทยน่าจะเจริญ ข้อสำคัญคือ ต้องหยุดการทุจริตให้สำเร็จ และไม่ทุจริตเสียเอง...”

    พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่คณะผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ
ในโอกาสเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๖

มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงาน ก.พ. ขอน้อมนำพระราชดำรัสดังกล่าว มาร่วมมือร่วมใจกันดำเนินการให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติ จึงจัดให้มีโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทเพื่อรวมพลังแผ่นดินด้วยใจไทยใสสะอาด

    นับเป็นการสานต่อโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท ที่สำนักงาน ก.พ. โดยคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ เลขาธิการ ก.พ. ในขณะนั้น ได้ริเริ่มให้มีขึ้นเพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    การดำเนินการโครงการนี้จะเป็นการขยายผลการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทจากกลุ่มเป้าหมายข้าราชการไปสู่ทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย โดยนำหลักการจาก พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส มาเรียนรู้และนำสู่การปฏิบัติด้วยใจไทยใสสะอาด ให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ชุมชน และประเทศชาติสืบไป

เป้าหมายของโครงการนี้ มุ่งมั่นให้คนไทยทุกคนต้องมี “ใจไทยใสสะอาด” ภายใน ๑๐ ปี โดยมีจุดร่วมของสังคมที่ว่า คนไทยทุกคนรวมพลังแผ่นดิน “ใจไทยใสสะอาด” คือ ตั้งใจเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท และน้อมนำสู่การปฏิบัติ ภาครัฐและภาคเอกชนก็จะสามารถร่วมต้านทุจริต เสริมสร้างประเทศไทยใสสะอาดได้

การสร้างเครือข่ายรวมพลังแผ่นดินในครั้งนี้ ใช้คำว่า “รวมพลังแผ่นดินด้วยใจไทยใสสะอาด” เป็นจุดร่วมรวมพลังแผ่นดินให้ทุกคนรู้รักสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกัน ร่วมคิดร่วมทำ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โดยให้สัญญากับตัวเองว่า

๑) จะมีจิตสำนึก รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นฉัตรชัย
๒) จะประพฤติตนเป็นพลเมืองดี สร้างประโยชน์ให้แก่ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ
๓) จะมุ่งมั่นแน่วแน่เรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท เพื่อสร้างพลังโปร่งใสให้แก่แผ่นดิน
๔) จะซื่อสัตย์ ไม่ทุจริต ไม่ติดสินบน มุ่งมั่นทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม โปร่งใส เปิดเผยข้อมูลได้ทุกขั้นตอนให้บุคคลหรือองค์กรภายนอกตรวจสอบได้
๕) จะร่วมเป็นเครือข่ายเสริมสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้อง มีคุณธรรมอันมั่นคง ส่งผลให้สังคมไทยปลอดทุจริตคอร์รัปชัน มุ่งสู่ประเทศไทยใสสะอาด
และที่สำคัญคือแต่ละคนจะมีภาระกิจสืบทอด ที่เน้นถึงการปฏิบัติให้เกิดคุณค่าของการรวมพลังแผ่นดิน “ใจไทยใสสะอาด” ทั้งระดับบุคคล / องค์กร มุ่งมั่นเรียนรู้ตามรอย พระยุคลบาทไปสร้างอุดมการณ์ในเครือข่ายของตนเองเพื่อรวมพลังแผ่นดิน “ใจไทย ใสสะอาด” ที่แท้จริง โดยร่วมกันตั้งโครงการรวมพลังแผ่นดินขึ้น เช่น ครอบครัวไทยใสสะอาด / สถานศึกษาไทยใสสะอาด / ราชการไทยใสสะอาด / เกษตรกรไทยใสสะอาด / อุตสาหกรรมไทยใสสะอาด / พาณิชยกรรมไทยใสสะอาด / องค์กรเอกชนไทยใสสะอาด / ลูกเสือชาวบ้านไทยใสสะอาด / ชุมชน...............ใสสะอาด เป็นต้น

    ผู้ที่เข้าร่วมรวมพลังแผ่นดินทั้งประเภทบุคคลและองค์กรนั้นควรมีกิจกรรมการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทหรือมีกิจกรรมเสริมสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน สังคมและประเทศชาติ จึงจะถือว่ารวมพลังแผ่นดิน “ใจไทยใสสะอาด” โดยสมบูรณ์
นอกจากนี้ ผู้ที่จะรวมพลังแผ่นดิน “ใจไทยใสสะอาด” ทุกคนควรมีหน้าที่ / ภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต่อเนื่อง ตามที่ตนถนัดและสนใจ ด้วยการปฏิบัติและทำงาน ตามแนวพระราชดำริ โดยการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท ได้แก่

๑) การดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
๒) การดำเนินชีวิตตามคุณธรรม ๔ ประการ
๓) การรักษาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ และป่าต้นน้ำลำธาร
๔) การปลูกป่าภูมิรักษ์
๕) การจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริ
๖) การจัดตั้งสัจจะสะสมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนียน
๗) การส่งเสริมวิถีไท นิยมไทย ใช้ของไทย และเที่ยวไทย
๘) การส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย
๙) การส่งเสริมกีฬาไทย ศิลปแม่ไม้มวยไทย และตะกร้อ
๑๐) การส่งเสริมครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเอง
๑๑) การเสริมสร้างสถานศึกษาตัวอย่างเพื่อชุมชน
๑๒) การเสริมสร้างองค์กรและสถานประกอบการใจไทยใสสะอาด
๑๓) การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างบ้าน-วัด-โรงเรียน (บวร)
๑๔) การสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน ชุมชน และประเทศชาติ
๑๕) การสร้างดัชนีชี้วัดสังคมไทยใสสะอาด
๑๖) กิจกรรมอื่นๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำรัส / พระราชดำริ เป็นต้น

ดังนั้น หน้าที่ของผู้ที่รวมพลังแผ่นดิน “ใจไทยใสสะอาด” ต่อภารกิจควรมีการให้โอกาสกลุ่มทำงานและร่วมกันทำงานได้ โดยปฏิบัติตามแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาสร้างภารกิจนั้นๆ

๒. การบริหารโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทเพื่อรวมพลังแผ่นดินด้วย ใจไทยใสสะอาด
๒.๑ ร่วมดำเนินการโดย มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงาน ก.พ. สถาบัน ราชภัฏ ๔๑ แห่งทั่วประเทศ และเครือข่ายภาคราชการและภาคประชาสังคม ๘๔ องค์กร
๒.๒ สถาบันราชภัฏ ๔๑ แห่งทั่วประเทศเป็นเครือข่ายหลักของการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทเพื่อรวมพลังแผ่นดิน “ใจไทยใสสะอาด”
๒.๓ ประชาชน / องค์กร สามารถที่จะรวมพลังแผ่นดิน “ใจไทยใสสะอาด” ได้ทั่วไป โดยการรักษาคำสัญญาตามที่กำหนด เพื่อร่วมกันสร้างกิจกรรมที่ดีให้กับชุมชน สังคมและประเทศชาติ เป็นการสร้างสิ่งดีงามไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไป

๓. ประสบการณ์การเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท
สังคมไทยใสสะอาดด้วย “รู้รักสามัคคี” “เศรษฐกิจพอเพียง” อยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลางด้วย คิดดี ทำดีสังคมไทย เป็นสังคมที่สามารถ รวมใจ ร่วมคิด ร่วมบริหารจัดการ ร่วมประเมินและร่วมภูมิใจในความสำเร็จ ในทุกระดับตั้งแต่ครอบครัว สถานศึกษา องค์กร ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด จนถึงระดับประเทศ

    กลุ่มและองค์กรต่าง ๆ มีการบริหารจัดการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เคลื่อนไหวไปด้วยกันอย่างเหมาะสม เป็นประโยชน์และสร้างความเจริญแก่ทุกภาคส่วน กล่าวคือ หมู่บ้าน ชุมชน ร่วมใจกันคิด ร่วมกันจัดตั้งให้มีกลุ่มการเงิน สหกรณ์ สหกรณ์เครดิตยูเนียน ธนาคารหมู่บ้าน หรือกลุ่มสัจจะ บริหารจัดการดี โดยยึดหลักซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ ไว้วางใจ มีคุณธรรม โปร่งใส พัฒนาศักยภาพสมาชิกในการจัดการและควบคุมการเงินกันเอง สร้างพลังกลุ่มจากจิตสำนึกที่ถูกต้อง มีคุณธรรมอันมั่นคง มุ่งสู่การพึ่งพาช่วยเหลือกันเอง เพื่อพัฒนาคน พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคมให้มั่นคงและยั่งยืน

    เชื่อมโยงกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มสวัสดิการสังคม กลุ่มการเงิน กลุ่มอาชีพ กลุ่มแก้ปัญหาสังคม กลุ่มสิ่งแวดล้อม โดยการบริหารจัดการแบบรู้รักสามัคคี ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางการดำรงอยู่และประพฤติปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาทของประชาชนทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับประเทศ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง ด้วยกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ มีเหตุผลตามความเป็นจริง มีเป้าหมายคือประโยชน์สุขและความเจริญของส่วนรวม มีความเมตตา กรุณา ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันทุกคนในสังคมที่คิดดี ทำดี

    ดังนั้น ถ้าหากพวกเราคิดดี ทำดี ตามรอยพระยุคลบาทแล้ว การทุจริต ซึ่งผมเองอยากใช้คำว่า “การโกงกิน” ก็จะลดลงไปจากสังคมไทย และประเทศไทยใสสะอาดอย่างแน่นอน สำหรับในส่วนที่จะมาถ่ายทอดให้พวกเราได้เรียนรู้ร่วมกันในวันนี้ คือ ประสบการณ์การเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท จากพระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และจาก พระบรมราโชวาท ในมิติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์ต้นแบบของการทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

    ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์มากว่าครึ่งศตวรรษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสอน ทรงเตือน ทรงแสดงบทเรียนและตัวอย่างต่าง ๆ ให้เห็นเป็นแนวคิด แนวปฏิบัติ ตลอดจนวางแนวทางในการพัฒนาประเทศอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากว่าจะตามแนวของชาวต่างประเทศในสิ่งที่ดี ๆ นั้นคงไม่เป็นไร แต่ถ้าหมกมุ่นอยู่กับทฤษฎี หลักการของฝรั่ง อย่างหน้ามืดตามัว โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อม และสภาพสังคมของประเทศไทยเรา

๓.๑ ภูมิสังคม
ผมขอเริ่มจากคำว่า “ภูมิสังคม” คำสอนคำสั้น ๆ นี้ ถือว่าเป็นบทเรียนแรกที่ผมได้รับเมื่อตอนได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลของ ฯพณฯ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปี ๒๕๒๔ ได้ทรงกำชับว่า จะทำอะไร ที่ไหน อย่างไรนั้น ขอให้ยึดหลักภูมิสังคมเป็นที่ตั้งนั้นก็หมายความว่า สิ่งแรกที่จะต้องพิจารณาก็คือ สภาพภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ภาษาโบราณอาจจะว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ นั่นเอง ว่าแต่ละสถานที่แต่ละแห่งหนสภาพต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอย่างไร จะเอื้อต่อกิจกรรมใดบ้าง เราก็ไม่ควรฝืน เช่น บ้านเมืองเราเอื้อเรื่องเกษตร เพราะทุนทรัพยากรธรรมชาติเป็นของเรา ภูมิปัญญาเป็นของเรา ก็คงต้องเน้นการเกษตร ดังเช่น พระองค์ทรงเน้นมาโดยตลอด ๕๐ กว่าปี โดยที่ไม่กระโจนเข้าสู่กิจกรรมที่เรียกว่า “อุตส่าห์ หากรรม” โดยที่มิได้มีความพร้อมแต่ประการใด สุดท้าย เราก็ล่มจม พอประสบวิกฤตเราก็หันมาคิดถึงเกษตร หวังว่าคงไม่สายเกินไป และขอให้กำลังใจผู้เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม การผลิต และการจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

    ส่วนคำว่า “สังคม” ก็คือ “คน” ถ้าจะพิจารณาคนแค่ในประเทศของเราก็จะเห็นถึงความแตกต่างอย่างมากระหว่างคนเหนือกับคนใต้ คนจะคิดจะทำแตกต่างกัน คนอีสาณกับคนภาคกลางก็ตัดสินใจไม่ค่อยจะเหมือนกัน แล้วแต่วัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยมของแต่ละถิ่น แต่ละท้องที่ ฉะนั้นจะทำอะไรต้องระมัดระวัง พิถีพิถันละเอียดอิ่น ต้องให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและลักษณะคนของแต่ละแห่งเพียงพิจารณาแต่ในประเทศก็ยังเห็นถึงความแตกต่างอย่างมากมาย นับประสาอะไรกับคนที่อยู่อีกฟากโลก อีกฟากทวีปยิ่งแปลกแยก แตกต่างออกไปใหญ่ แต่คนในประเทศ ก็ยังลืมตัว พยายามลอกเลียนแบบมาใช้เกือบทุกด้าน ไม่ว่าวิธีคิด วิธีปฏิบัติลามไปถึงวัฒนธรรม ประเพณี จนเศรษฐกิจ สังคมและการเมื่องย่ำแย่ ยุ่งเหยิงอยู่ทุกวันนี้ และก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเข็ดหลาบ สมควรที่พวกเราจักต้องอัญเชิญหลักการดังกล่าวมาใช้เสียที

๓.๒ ธรรมาภิบาล : ทศพิธราชธรรม
หัวข้อ “ธรรมาภิบาล” (Good Governance) นี้ หลายคนมักจะต้องพูดทับศัพท์ภาษาอังกฤษด้วยเสมอ เพราะเท่าที่สังเกตเห็นทุกวงการเห่อคำว่า Good Governance กันมาก ๆ และพยายามแปลเป็นไทยว่า ธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล บรรษัทภิบาล การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ฯลฯ แต่ก็สลัดโซ่ตรวนความคิดของฝรั่งไม่ได้ หรือจะเป็นเพราะไม่เข้าใจว่าจริง ๆ แล้วคืออะไร ก็อาจจะเป็นได้ จึงต้องพูดทับศัพท์ภาษาต่างประเทศไว้ทุกครั้งทุกแห่ง ประหลาดดี

    คำว่า “ธรรมาภิบาล” นี้ ลองย้อนกลับไปพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเปล่งคำว่า ธรรมาภิบาล หรือ Good Governance ตั้งแต่คำนี้ยังไม่เกิด ยังไม่มี หลายสิบปีล่วงหน้ามาแล้ว ตั้งแต่วันแรกที่เสด็จขึ้นครองราชย์ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” คำว่า ธรรม หรือหลักธรรมในการครองแผ่นดินนี้ ส่วนหนึ่งก็คือ ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ นั่นเอง และหลัก ๑๐ ประการนี้ก็คือ ธรรมาภิบาล ที่สมบูรณ์ ลึกซึ้ง ครบถ้วน ครบทุกมิติยิ่งกว่า Good Governance เสียอีก เช่นคำว่า โปร่งใส ซึ่งมักจะพูดกันมากใน Good Governance ก็เป็นแค่ข้อย่อยข้อหนึ่งในศีล ซึ่งเป็นทศพิธราชธรรมข้อที่ ๒ สำหรับศีล ๑ ใน ๕ ข้อก็คือ มุสา การที่บริษัทเอนรอน (Enron) บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา แต่งบัญชีก็หมายความว่า บริษัทโกหกผู้ถือหุ้น โกหกคนทำงานในบริษัท ใช่หรือไม่ ลองศึกษาดูก็แล้วกันว่า ทศพิธราชธรรมมีอะไรบ้าง ในเบื้องต้นท่านผู้บริหารทุกท่าน สามารถเปิดดูได้จากหน้าแรกของหนังสือพกติดตัว “ตามรอยพระยุคลบาท” ฉบับพกพาใส่กระเป๋าได้ ที่โครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท สำนักงาน ก.พ. จัดทำขึ้นเผยแพร่ทั่วประเทศ ในส่วนนี้ มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาดก็จะร่วมเชิญชวนให้ประชาชนในทุกภาคสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนได้มีโอกาสได้เรียนรู้ อย่างทั่วถึงต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ยุทธศาสตร์เสริมสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้อง มีคุณธรรมอันมั่นคงสำหรับสังคมไทย” ซึ่งมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาดได้มอบหมายให้ ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเข้าร่วมดำเนินงานกับเครือข่าย ภาคราชการและภาคประชาสังคม ๘๔ องค์กร จัดทำขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ หลายหน่วยงานร่วมมือร่วมใจกันดำเนินการ ที่ผ่านมามูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงาน ก.พ. มีบทบาทมากหน่อย จนผู้เกี่ยวข้อง ทั่วประเทศเข้าใจว่า เป็นการดำเนินงานของมูลนิธิ หรือมูลนิธิเป็นเจ้าของเรื่อง ขอเรียนว่า การรวมพลังเสริมสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้อง มีคุณธรรมอันมั่นคง เป็นของพวกเราทุกคน ที่จะต้องรู้รักสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกัน เมื่อมีความคืบหน้ามาถึงขั้นนำร่องที่จังหวัดชัยนาท จนบรรลุผลสัมฤทธิ์เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว ในขั้นตอนดำเนินการเผยแพร่ขยายผล มหาวิทยาลัยมหามงกุฎราชวิทยาลัย โดยพระราชเมธาภรณ์ รักษาการแทนอธิการบดีได้รับเป็นหน่วยงานประสานดำเนินงานต่อไป ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมมือร่วมใจกันเสริมสร้างความดีงามนี้ให้แก่ลูกหลานของเรา เพื่อจรรโลงความมั่นคง ความมั่งคั่ง และความสงบสุขของประเทศต่อไป

ทศพิธราชธรรม
๑. ทาน ได้แก่ การให้ทาน
๒. ศีล ได้แก่ การรักษาศีล การมีศีล
๓. ปริจาคะ ได้แก่ การบริจาค และการเสียสละประโยชน์ส่วนตน
๔. อาชชวะ ได้แก่ ความซื่อตรง ความจริงใจ ความเที่ยงธรรม
๕. มัททวะ ได้แก่ ความสุภาพ อ่อนโยน
๖. ตบะ ได้แก่ ความเพียร
๗. อโกธะ ได้แก่ การระงับความโกรธ
๘. อวิหิงสา ได้แก่ ความไม่เบียดเบียน
๙. ขันติ ได้แก่ ความอดท
๑๐. อวิโรธนะ ได้แก่ การหนักแน่นในธรรมและความถูกต้อง

๓.๓ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน
สาระส่วนหนึ่งของพระปฐมบรมราชโองการซึ่งแสดงถึงเป้าหมายของการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ ความว่า “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” คำนี้เป็นคำลึกซึ้งและคิดว่าจะต้องใช้ด้วยกันคือ ประโยชน์สุข ไม่ใช่สร้างประโยชน์และสร้างความสุข หากแต่ว่าสิ่งใด ๆ ที่เรากระทำมา ไม่ว่าเรื่องการพัฒนา เรื่องกติกาของสังคม การเมือง ฯลฯ ต้องมุ่งให้มาถึง “ประโยชน์สุข” เป็นสำคัญ

    ต่างประเทศเขาสอนเพียงประโยชน์ ผู้คนจึงแย่งชิง เบียดเบียน สร้างความร่ำรวย โดยมิได้คำนึงถึงว่าประเทศชาติ ประชาชนจะทุกข์อย่างไร ผลประโยขน์เป็นที่ตั้งในเบื้องต้นก่อนก็พอแล้ว การรบราฆ่าฟังจึงเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะยึดประโยชน์อย่างเดียว จึงนำไปสู่การแย่งชิงทำลายล้าง ซึ่งประโยชน์สุขนี้ทางสากลหรือทางสหประชาชาติก็เริ่มเปลี่ยนหลักการแล้ว แต่เดิมประเทศไหนจะเจริญแค่ไหน เขาเอาเงินเป็นดัชนีชี้วัด ระยะถัดมาก็เอาคุณภาพชีวิตเป็นดัชนีชี้วัด และขณะนี้ก็เริ่มพัฒนาดัชนีชี้วัดใหม่ มุ่งชี้วัดถึงความสุขกันแล้วแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิด ทรงรับสั่ง ทรงปฏิบัติมาก่อนล่วงหน้ามามากกว่าครึ่งศตวรรษ เหตุไฉนพวกเราชาวไทยอยู่ใกล้แสงประทีปแห่งปัญญานี้ กลับหน้ามืดตามัว กลับไปร่ำเรียน นำเข้าแนวคิดสำเร็จรูป เข้ามาใช้ในประเทศอย่างขาดสติ และนำมาซึ่งความทุกข์นานับประการ

๓.๔ รู้ รัก สามัคคี
ถ้าจะมองประโยคพระราชทานนี้อย่างง่าย ๆ สามารถนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติประจำวันได้ ก็อาจจะแยกทีละคำ เราก็จะได้คำว่า “รู้” ได้คำว่า “รัก” และได้คำว่า “สามัคคี” ก็หมายความว่า จะทำอะไรเบื้องต้น จะต้องรู้เสียก่อน บางครั้งรับสั่งว่า ให้คิดก่อนทำ ให้คิดก่อนพูด เราจะต้องรู้ปัญหาเสียก่อนว่า ต้นตอของแต่ละปัญหาคืออะไร ปัจจัย เงื่อนไข ข้อปัญหานี้มีอะไรบ้าง จนรู้ถึงทางออก ทางแก้ ไม่ใช่ว่า รู้หรือนึกว่ารู้ตามกระแสตามแฟชั่น ใครเฮมาอย่างไร ก็เฮตามเขาไปอย่างนั้น โดยไม่รู้ไม่ศึกษาว่า ต้นเหตุ ปลายเหตุคืออะไร เป็นพวกรู้แบบหลงกระแส มีเต็มบ้านเต็มเมืองหมดขณะนี้หลงผิด เชื่อง่ายโดยไม่รู้ว่า ประโยชน์เรา ประโยชน์เขาอยู่ตรงไหน แยกแยะไม่ออก

    อย่างไรก็ตาม รู้แล้วคงจะไม่พอ เพราะรู้แล้วอยู่เฉย ๆ ผลที่ดีมีประโยชน์ก็ไม่เกิดกับตัวเราและแผ่นดิน เมื่อรู้แล้วต้องมีคำว่า รัก หรือความเมตตา ความปรารถนาที่จะนำความรู้นั้นมาปฏิบัติให้เกิดมรรคผล ถึงจะเป็นสิ่งถูกต้อง ความรักความเมตตา ดูจะมีลดน้อยลงไปในสังคมของเรา พลังที่จะนำปัญญาออกสู่การปฏิบัติจึงพลอยมีน้อยไปด้วย

    เมื่อได้ความรู้และมีรักเมตตาแล้ว นั่งทำง่วนอยู่คนเดียวก็คงดีอยู่หรอก ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ทว่า การทำอะไรอยู่คนเดียว พลังคงไม่เพียงพอ ผลคงไม่ใหญ่พอ เพราะต่อให้มีสติปัญญาเก่งกาจอย่างไร ทำคนเดียวก็คงได้ผลแค่ความสามารถของตนคนเดียวจะพึงกระทำได้ แต่ต้องมีคำว่า สามัคคี คือ ร่วมอก ร่วมใจ ร่วมมือกันทำพลัง และผลจึงจะเกิดขึ้นได้ และส่งให้เกิดประโยชน์สุขแก่แผ่นดิน และตัวเราเองก็ได้รับประโยชน์รับความสุขไปด้วยสามคำนี้ จึงควรที่จะนำมาเป็นหลักปฏิบัติในวิถีชีวิตประจำวันเป็นกิจวัตร

    เป็นที่น่ายินดีว่า สำนักงาน ก.พ. ได้ร่วมกับคณะกรรมการ ป.ท. กระทรวงมหาดไทย และ ๕ จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ ชัยนาท ขอนแก่น ภูเก็ต และนราธิวาส น้อมนำเอาหลัก “รู้ รัก สามัคคี” นี้มาดำเนินการร่วมกันในมิติของโครงการเสริมสร้างจริยธรรม รวมพลังสร้างชุมชนเข้มแข็งป้องกันทุจริต โครงการนี้เป็น ๑ ในแผนปฏิบัติการของยุทธศาสตร์เสริมสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องมีคุณธรรมอันมั่นคงสำหรับสังคมไทย ตามนโยบายของรัฐบาล สำนักงาน ก.พ. และผมในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ได้มอบหมายให้ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ เลขาธิการมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายภาคราชการและภาคประชาสังคม ๘๔ องค์กร แจ้งให้กระทรวง กรม และจังหวัดได้รับทราบทั่วประเทศแล้ว

๓.๕ การพัฒนาประชาชนให้หลุดพ้นจากความยากจน
พัฒนาประชาธิปไตยนั้นไม่สามารถจะกระทำได้ โดยเพียงแต่กำหนดกฎเกณฑ์ สร้างระเบียบ กติกาให้กับสังคม ให้กับคนในสังคมปฏิบัติ โดยสภาพแวดล้อมมิได้เอื้อให้เกิดความเข้าใจ และเกิดความพร้อมเลย ความยุ่งเหยิง ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นวันหนึ่งหลายปีมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งกับพวกเราที่ถวายงานอยู่ ด้วยประโยคที่คิดว่า มีความหมายลึกซึ้ง ทรงเริ่มตั้งเป็นปริศนา โดยรับสั่งลอย ๆ ขึ้นมาว่า

“…ทำไม พระเจ้าอยู่หัวต้องเหน็ดเหนื่อยอยู่อย่างนี้ ที่ต้องเหน็ดเหนื่อยก็เพราะประชาชนยังยากจนอยู่ และเมื่อเขายากจน เขาจึงไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพ และเมื่อเขาไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพ เขาจึงเป็นประชาธิปไตยไม่ได้...”

    เพียงประโยคสั้น ๆ ประโยคเดียวได้ทรงอรรถาธิบายสภาพการเมืองในบ้านเมืองเราอย่างทะลุปรุโปร่ง ฉะนั้น การปูพื้นฐานของประชาธิปไตย มิใช่เรื่องกฎหมาย ระเบียบ กติกาแต่เพียงอย่างเดียว หากพื้นฐานจริง ๆ ก็คือต้องพัฒนาประชาชนให้หลุดพ้นจากความยากจนก่อน จึงจะเป็นประชาธิปไตยได้
ดังนั้น การที่รัฐบาลประกาศสงครามกับความยากจน และการที่พวกเราทั้งภาคราชการและภาคประชาสังคมกำลังพยายามทำงานหนักเพื่อขจัดความยากจนให้สิ้นจากแผ่นดินไทย ก็นับเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำรัสนี้ ไปปฏิบัติงานให้บังเกิดผลจริง และนับเป็นการถวายราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออนุญาตพูดคำศัพท์สามัญ กล่าวคือ เป็นของขวัญที่พระองค์จะทรงพอพระราชหฤทัยเป็นที่สุด

๓.๖ คำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบ
เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัส ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงตั้งคำถามต่อพวกเราทุกคน ไม่ทราบว่าใครจะยังจำได้อยู่หรือเปล่า และใครบ้างที่คิดว่าเป็นคำถาม คงลืมกันหมดแล้ว ฉะนั้นคำถามของพระองค์จึงไม่มีคำตอบ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง จึงอัญเชิญมา ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง เผื่อว่าจะได้คำตอบจากพวกเราทั้งหลาย

พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า

    “...ความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ทุกคนทุกฝ่ายแสดงให้เห็น ทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึงคุณธรรมข้อหนึ่ง ที่อุปถัมภ์และผูกพันคนไทยให้รวมกันเป็นเอกภาพ สามารถธำรงชาติบ้านเมืองให้มั่นคงเป็นอิสระยั่งยืนมาช้านาน. คุณธรรมข้อนั้นก็คือไมตรี ความมีเมตตาหวังดีในกันและกัน. คนที่มีไมตรีต่อกัน จะคิดอะไรก็คิดแต่ในทางสร้างสรรค์ ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลกัน. จะพูดอะไรก็ใช้เหตุผลเจรจากัน ด้วยความเข้าอกเข้าใจกัน. จะทำอะไรก็ช่วยเหลือร่วมมือกันด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน. ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาทบทวนให้ทราบตระหนักแก่ใจอีกครั้งหนึ่งว่า ในกายในใจของไทยเรายังมีคุณธรรมข้อนี้อยู่หนักแน่นพร้อมมูลเพียงใด. จักได้มั่นใจว่า เราจะสามารถรักษาประเทศชาติและความเป็นไทยของเราไว้ได้ยืนยาวตลอดไป. ...”

คำสอนของพระองค์นั้นมีค่าสูงยิ่ง สมควรที่พวกเราจะรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมไปคิดให้เข้าใจ และยึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ประเทศเราจะสงบ ไม่มีทุจริต ไม่มีการโกงกิน ทุกคนจะมีความสุข ประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างแน่แท้

โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ประธานกรรมการมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด
ในการสัมมนา “บทบาทภาคประชาชนในการป้องกันและแก้ไขการคอร์รัปชัน”
วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๒๐–๑๐.๒๐ น.
ณ ห้องประชุมกษัตริย์ศึก ๒ ชั้น ๔ โรงแรม The Twin Tower

บทความใสสะอาด ที่เกี่ยวข้อง
Hover Icon
บทความใสสะอาด
ตามไปดูลูกสาวของแผ่นดินที่สงขลา
14 กุมภาพันธ์ 2566
174
Hover Icon
บทความใสสะอาด
คืนคุณภาพสู่ห้องเรียน
06 กุมภาพันธ์ 2566
629
Hover Icon
บทความใสสะอาด
จริยธรรมข้าราชการพลเรือน
06 กุมภาพันธ์ 2566
548
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ โดยคลิก "การตั้งค่าคุกกี้" นโยบายความเป็นส่วนตัว

การตั้งค่าคุกกี้