ข้อบังคับ
มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด
หมวดที่ ๑
ชื่อเครื่องหมายและสำนักงานที่ตั้ง
ข้อ ๑ มูลนิธินี้ชื่อว่า มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ย่อว่า ทสส. เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า
Foundation for a Clean and Transparent Thailand ย่อว่า FaCT
ข้อ ๒ เครื่องหมายของมูลนิธินี้ คือ คน ๔ คน ถือธงไทย แทนความหมายของการจับมือรวมพลัง
ของคนไทยทุกคนทั้ง ๔ ภาค วงกลมสีส้มด้านหลังดุจดังพระอาทิตย์ขึ้น แทนความหมาย
ของการจุดประกายความหวังและพลังให้กับสังคมไทยให้ลุกขึ้นมาร่วมสู้เพื่อให้ประเทศไทย
ใสสะอาด ด้านล่างมีตัวอักษร ประเทศไทยใสสะอาด ปราศจากคอร์รัปชัน
ข้อ ๓ สำนักงานของมูลนิธิตั้งอยู่ที่ สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน ๔๗/๑๐๑ ถนนติวานนท์
ต.ตลาดขวัญ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี ๑๑๐๐๐
หมวดที่ ๒
วัตถุประสงค์
ข้อ ๔ วัตถุประสงค์ของมูลนิธินี้ คือ
๔.๑ เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยมีจริยธรรม มีคุณธรรม รังเกียจการทุจริต ถือประโยชน์ของ
ส่วนรวมเป็นสำคัญ รวมทั้งประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่มีความใสสะอาด
๔.๒ เพื่อสร้างแนวร่วมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในสังคมไทย
๔.๓ ให้ความช่วยเหลือในการให้คำปรึกษา แนะนำ การจัดฝึกอบรม การดูงาน
ผลิตเอกสาร เผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในสังคมไทย
๔.๔ จัดให้มีการศึกษา วิจัยและสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในสังคมไทย
๔.๕ ร่วมมือกับสถาบันและองค์กรทั้งในและต่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกัน
๔.๖ ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์อื่น รวมทั้งให้ความร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ
๔.๗ ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
หมวดที่ ๓
ทุนทรัพย์ ทรัพย์สิน และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน
ข้อ ๕ ทรัพย์สินของมูลนิธิมีทุนเริ่มแรก คือ เงินสด จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน)
ข้อ ๖ มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สิน โดยวิธีต่อไปนี้
๖.๑ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่นใด โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพัน
ให้มูลนิธิต้องรับผิดชอบในหนี้สินหรือภาระติดพันอื่นใด
๖.๒ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคหรือให้การสนับสนุน
๖.๓ ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิ
๖.๔ รายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิ
หมวดที่ ๔
คุณสมบัติ และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ
ข้อ ๗ กรรมการของมูลนิธิต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
๗.๑ มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์
๗.๒ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
๗.๓ ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือ
ความผิดลหุโทษ
ข้อ ๘ กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
๘.๑ ถึงคราวออกตามวาระ
๘.๒ ตายหรือลาออก
๘.๓ ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับข้อ ๗
๘.๔ เป็นผู้มีความประพฤติหรือปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสีย และคณะกรรมการมูลนิธิมีมติ
ให้ออก ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการมูลนิธิ
หมวดที่ ๕
การดำเนินงานของคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ ๙ มูลนิธินี้ดำเนินการโดยคณะกรรมการมูลนิธิ มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐ คน แต่ไม่เกิน ๒๐ คน
ประกอบด้วย ประธานกรรมการมูลนิธิ รองประธานกรรมการมูลนิธิ เลขาธิการมูลนิธิ เหรัญญิก
และกรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามแต่คณะกรรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร
ข้อ ๑๐ ในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการผู้ริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิ เป็นผู้เลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินงานของ
มูลนิธิขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการมูลนิธิและกรรมการตำแหน่งอื่น
ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ
ข้อ ๑๑ วิธีเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิให้ปฏิบัติดังนี้ ให้คณะกรรมการมูลนิธิชุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่
เลือกตั้งประธานกรรมการมูลนิธิและกรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ
ข้อ ๑๒ กรรมการดำเนินงานมูลนิธิอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี นับแต่วันเลือกตั้ง
ในวาระเริ่มแรก เมื่อครบ ๒ ปี นับแต่วันเลือกตั้ง ให้กรรมการมูลนิธิกึ่งหนึ่ง
ของกรรมการมูลนิธิทั้งหมดออกจากตำแหน่งโดยวิธีการจับสลาก และให้ถือว่าเป็นการพ้น
จากตำแหน่งตามวาระ
ข้อ ๑๓ การเลือกตั้งคณะกรรมการมูลนิธิ ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
เป็นมติของที่ประชุม
ข้อ ๑๔ กรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการมูลนิธิอีกได้
ข้อ ๑๕ ในกรณีที่กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้กรรมการของมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่ง
ปฏิบัติหน้าที่กรรมการของมูลนิธิต่อไปจนกว่ามูลนิธิจะมีการแจ้งจดทะเบียนกรรมการของมูลนิธิ
ที่เลือกตั้งใหม่
หมวดที่ ๖
อำนาจหน้าที่คณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ ๑๖ คณะกรรมการมูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของมูลนิธิ ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
และภายใต้ข้อบังคับนี้ และให้มีอำนาจหน้าที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้
๑๖.๑ กำหนดนโยบายของมูลนิธิและดำเนินงานตามนโยบายนั้น
๑๖.๒ ควบคุมการเงินและทรัพย์สินต่างๆ ของมูลนิธิ
๑๖.๓ เสนอรายงานกิจการ รายงานการเงิน และบัญชีงบดุล รายได้รายจ่ายต่อกระทรวงมหาดไทย
๑๖.๔ ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ และวัตถุประสงค์ของข้อบังคับนี้
๑๖.๕ ตราระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมูลนิธิ
๑๖.๖ แต่งตั้งหรือถอดถอนอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง หรือหลายคณะ เพื่อดำเนินการเฉพาะอย่าง
ของมูลนิธิภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการมูลนิธิ
๑๖.๗ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิหรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้มูลนิธิเป็นพิเศษเป็นประธานและหรือ
กรรมการกิตติมศักดิ์
๑๖.๘ เชิญผู้ทรงเกียรติเป็นผู้อุปถัมภ์มูลนิธิ
๑๖.๙ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิ
๑๖.๑๐ แต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ประจำของมูลนิธิ
มติให้ดำเนินการตามข้อ ๑๖.๗, ๑๖.๘ และ ๑๖.๙ ต้องเป็นมติเสียงข้างมากของที่ประชุม
และที่ปรึกษาตามข้อ ๑๖.๙ ย่อมเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิที่เชิญเท่านั้น
ข้อ ๑๗ ประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
๑๗.๑ เป็นประธานของการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
๑๗.๒ สั่งเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
๑๗.๓ เป็นผู้แทนของมูลนิธิในการติดต่อกับบุคคลภายนอก หรือการลงลายมือชื่อในเอกสาร
ข้อบังคับและสรรพหนังสือ อันเป็นหลักฐานของมูลนิธิ เมื่อประธานกรรมการมูลนิธิ
หรือกรรมการมูลนิธิผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการแทน ได้ลงลายมือชื่อแล้วจึงเป็นอันใช้ได้
๑๗.๔ ปฏิบัติการอื่นๆ ตามข้อบังคับ และมติของคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ ๑๘ ให้รองประธานกรรมการมูลนิธิ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิ เมื่อประธานไม่สามารถ
ปฏิบัติหน้าที่ได้หรือในกรณีที่ประธานมอบหมายให้ทำการแทน
ข้อ ๑๙ ถ้าประธานกรรมการมูลนิธิและรองประธานกรรมการมูลนิธิ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการประชุม
คราวหนึ่งคราวใดได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการมูลนิธิคนหนึ่ง เป็นประธานสำหรับการประชุมคราวนั้น
ข้อ ๒๐ เลขาธิการมูลนิธิมีหน้าที่ควบคุมกิจการและดำเนินการประจำของมูลนิธิ ติดต่อประสานงานทั่วไป
รักษาระเบียบข้อบังคับของมูลนิธิ นัดประชุมกรรมการตามคำสั่งของประธานกรรมการมูลนิธิ
และทำรายงานการประชุม ตลอดจนรายงานกิจการมูลนิธิ
ข้อ ๒๑ เหรัญญิกมีหน้าที่ควบคุมการเงิน ทรัพย์สินของมูลนิธิ ตลอดจนบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
ให้ถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด
ข้อ ๒๒ สำหรับกรรมการตำแหน่งอื่นๆ ให้มีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด
โดยทำเป็นคำสั่งระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน
ข้อ ๒๓ คณะกรรมการมูลนิธิมีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมกรรมการ หรืออนุกรรมการอื่นๆ ของมูลนิธิได้
หมวดที่ ๗
การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ ๒๔ คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีทุกๆ ปีภายในเดือนมกราคม
และต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าร่วมประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด
จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ ๒๕ การประชุมวิสามัญอาจมีได้เมื่อประธานกรรมการมูลนิธิ หรือคณะกรรมการมูลนิธิตั้งแต่
๒ คนขึ้นไป แสดงความประสงค์ไปยังประธานกรรมการมูลนิธิหรือผู้ทำการแทนขอให้มีการประชุม
ก็ให้เรียกประชุมวิสามัญได้
ข้อ ๒๖ ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ หากมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น มติของ
ที่ประชุมให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุม
ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่ง เป็นเสียงชี้ขาด กิจการใดที่เป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อย
ประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจสั่งให้ใช้วิธีสอบถามมติทางหนังสือแทนการเรียกประชุม
คณะกรรมการมูลนิธิ แต่ประธานกรรมการมูลนิธิต้องรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิใน
คราวต่อไป ถึงมติและกิจการที่ได้ดำเนินการไปตามมตินั้น สำหรับกิจการใดเป็นงานประจำ
หรือเป็นกิจการเล็กน้อยหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิ
ข้อ ๒๗ ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือประธานที่ประชุม
มีสิทธิเชิญหรืออนุญาตให้บุคคลที่เห็นสมควร เข้าร่วมประชุมในฐานะแขกผู้มีเกียรติ หรือ
ผู้สังเกตการณ์ หรือเพื่อชี้แจง หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้
หมวดที่ ๘
การเงิน
ข้อ ๒๘ ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือรองประธานกรรมการมูลนิธิในกรณีทำหน้าที่แทน มีอำนาจ
สั่งจ่ายเงินได้คราวละไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ถ้าเกินจำนวนดังกล่าว
ต้องได้รับอนุมัติจาก คณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมาก เว้นแต่กรณีจำเป็นและเร่งด่วน
หรือเป็นการจ่ายตามแผนงานที่ได้รับอนุมัติล่วงหน้าไว้แล้ว ให้อยู่ในดุลพินิจของ
ประธานกรรมการมูลนิธิที่จะอนุมัติให้จ่ายได้ แล้วต้องรายงานให้คณะกรรมการมูลนิธิทราบ
ในการประชุมคราวต่อไป
ข้อ ๒๙ เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดได้ครั้งละไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน)
ข้อ ๓๐ เงินสดของมูลนิธิ ต้องนำฝากไว้กับธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่นใดที่รัฐบาลให้การ
ค้ำประกัน หรือตามที่คณะกรรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร
ข้อ ๓๑ การสั่งจ่ายเงินโดยเช็คหรือตั๋วสั่งจ่ายเงิน จะต้องมีลายมือชื่อของประธานกรรมการมูลนิธิ
หรือผู้ทำการแทนหรือกรรมการมูลนิธิที่ประธานกรรมการมูลนิธิมอบหมาย กับเลขาธิการหรือ
เหรัญญิกลงนามทุกครั้งจึงจะเบิกจ่ายได้
ข้อ ๓๒ การใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ รวมทั้งค่าใช้จ่ายประจำสำนักงาน ให้จ่ายเพียง
ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่เป็นทุน เงินที่ผู้บริจาคมิได้แสดงเจตนาให้เป็นเงินสมทบทุน
โดยเฉพาะ และรายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิ
ข้อ ๓๓ ให้คณะกรรมการมูลนิธิวางระเบียบเกี่ยวกับการเงิน การบัญชีและทรัพย์สินของมูลนิธิ
ตลอดจนกำหนดอำนาจหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับการรับและจ่ายเงิน นอกเหนือจากที่
กำหนดไว้ในข้อบังคับ
ข้อ ๓๔ ให้คณะกรรมการมูลนิธิกำหนดรอบระยะเวลาบัญชี และจัดทำรายงานสถานะการเงินของมูลนิธิ
ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา เสนอต่อที่ประชุมในการประชุมสามัญประจำปี
ข้อ ๓๕ ให้มีผู้สอบบัญชีของมูลนิธิ ซึ่งคณะกรรมการของมูลนิธิเห็นชอบและแต่งตั้งจากบุคคลที่มิใช่
กรรมการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของมูลนิธิ โดยจะให้ดำรงตำแหน่งกิตติมศักดิ์หรือได้รับค่าตอบแทน
อย่างไรสุดแต่คณะกรรมการมูลนิธิจะกำหนด
ข้อ ๓๖ ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของมูลนิธิและรับรองบัญชีงบดุลประจำปีที่
คณะกรรมการมูลนิธิต้องรายงานต่อกระทรวงมหาดไทย และมีสิทธิตรวจสอบบัญชีและ
เอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสอบถากรรมการมูลนิธิและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิในเรื่องใดๆ
ที่เกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และเอกสารดังกล่าวได้
หมวดที่ ๙
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
ข้อ ๓๗ การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับให้กระทำได้โดยที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งต้องมีกรรมการมูลนิธิ
เข้าประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และการอนุมัติให้แก้ไขหรือเพิ่มเติม
ข้อบังคับต้องประกอบด้วย คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุม
หมวดที่ ๑๐
การเลิกมูลนิธิ
ข้อ ๓๘ ถ้ามูลนิธิต้องเลิกล้มไปโดยมติของคณะกรรมการ หรือโดยเหตุใดก็ตาม ทรัพย์สินทั้งหมด
ของมูลนิธิที่เหลืออยู่ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
ข้อ ๓๙ การสิ้นสุดของมูลนิธินั้นนอกจากที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ให้มูลนิธิเป็นอันสิ้นสุดลง โดย
มิต้องให้ศาลสั่งเลิกด้วยเหตุต่อไปนี้
๓๙.๑ เมื่อมูลนิธิได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้วไม่ได้รับทรัพย์สิน
ตามคำมั่นเต็มจำนวน
๓๙.๒ เมื่อกรรมการมูลนิธิจำนวนสองในสามมีมติให้ยกเลิก
๓๙.๓ เมื่อมูลนิธิไม่อาจหากรรมการได้ครบตามจำนวนกรรมการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
๓๙.๔ เมื่อมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ
หมวดที่ ๑๑
บทเบ็ดเตล็ด
ข้อ ๔๐ การตีความในข้อบังคับของมูลนิธิ หากเป็นที่สงสัยให้คณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมาก
ของจำนวนกรรมการที่มีอยู่เป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ ๔๑ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมูลนิธิมาใช้บังคับในเมื่อข้อ
บังคับของมูลนิธิมิได้กำหนดไว้
ข้อ ๔๒ มูลนิธิต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน หรือเพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการ
ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ประธานกรรมการมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด
